ข้าวแช่ชาวมอญ Featured

    ชุมชนวัดทิพพาวาส เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (ชุมชนมอญ)

        ตำนานความเป็นมาของ “ข้าวแช่ชาวมอญ” หาดูได้จากตำนานสงกรานต์มอญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จำนวน 7 แผ่น ระบุเรื่องราวของ เศรษฐีผู้หนึ่งที่ไม่มีบุตรธิดา ทำการบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่สำเร็จจนถึงวันในคิมหันต์ฤดูฝน นักขัตตฤกษ์ต้นปีใหม่ เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีจึงไปที่โคนต้นไทรริมน้ำพร้อมบริวาร และสั่งให้บริวารนำข้าวสารเมล็ดงามล้างน้ำถึง 7 ครั้ง จนบริสุทธิ์หมดมลทิน หุงเพื่อบูชาเทวดา พร้อมเครื่องเคียงมากมายที่ประจงทำอย่างประณีต แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร เทวดาจึงเมตตาให้เทพบุตรชื่อ ธรรมบาลกุมาร มาจุติเป็นบุตรสมความปรารถนา…

    จากความเชื่อดังกล่าว ทำให้เป็นประเพณีสืบเนื่องของชาวมอญที่จะต้องทำพิธีบูชาสังเวยเทวดาในเทศกาลสงกรานต์เพื่ออธิษฐานขอพร ซึ่งเชื่อว่า หากได้กระทำพิธีที่ว่ามานี้ ขอสิ่งใดจะได้ดังหวัง  ข้าวแช่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเซ่นไหว้เทวดาไปด้วย

        “ข้าวแช่” ต้องคัดสรรเมล็ดสวยอย่างดี มาซาวน้ำ 7 ครั้งให้สะอาด เตาไฟที่จะใช้หุงข้าวต้องตั้งที่ลานโล่งนอกชายคาบ้าน เมื่อหุงสุกพอเม็ดสวยนำไปซาวน้ำ ขัดกับผนังกระบุงด้านในหรือภาชนะอะไรก็ได้ที่พื้นผิวมีความสาก เพื่อเอายางข้าวออกและปล่อยให้สะเด็ดน้ำ ถ้าจะให้เต็มพิธีต้องปักราชวัตรฉัตรธง บริเวณที่หุงข้าวด้วย เทวดาที่จะทำการสังเวยนี้ประดิษฐานอยู่ที่ “ศาลเพียงตา” ที่พ่อบ้านสร้างขึ้นชั่วคราวในบริเวณบ้านก่อน 1 วันศาลเพียงตา ถือเป็น “บ้านสงกรานต์” ที่ชาวมอญเรียกว่า “ฮอยซ้งกรานต์” มีไว้สำหรับวางอาหาร 1 สำรับ การตกแต่ง ใช้ผ้าขาวปู ผูกผ้าสี นำทางมะพร้าวใบสั้นผ่าซีก ผูกโค้งตกแต่งเสาทั้ง 4 ประดับด้วยดอกไม้สด ส่วนมากจะใช้ “ดอกราชพฤกษ์” หรือ ดอกคูน ชาวมอญเรียกว่า “ประกาวซ้งกรานต์” แปลว่า “ดอกสงกรานต์” เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พรมน้ำอบน้ำปรุง รอการบูชาสังเวยเทวดาในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ส่วนเครื่องเคียงที่รับประทานร่วมกับข้าวแช่นั้น บางถิ่นมีเครื่องเคียง  5 ชนิด บางถิ่นมีถึง 7 ชนิด แตกต่างกันไป แล้วแต่การนำประยุกต์ใช้ให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น อาทิ ปลาแห้งป่น เนื้อเค็มฉีกฝอย หัวไชโป้เค็มผัดไข่ ไข่เค็ม กระเทียมดอง ปลาสลิด ปลาเค็มชุปแป้งทอด

         นอกจากขั้นตอนการทำที่พิถีพิถันนั้น ยังมีพัฒนากระบวนการปรุงด้วยการหุงข้าวพร้อมใบเตย เพื่อให้ได้ข้าวที่ออกมามีสีและกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน จนโด่งดังเลื่อนขั้นจาก “ข้าวแช่ชาวมอญ” ธรรมดาๆ กลับกลายเป็น “ข้าวแช่ชาววัง”ซึ่งปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินชื่อ “ข้าวแช่เสวย” หรือ “ข้าวแช่ชาววัง” หรือ “ข้าวแช่เมืองเพชร” ทั้งหมดนี้ล้วนมีแบบอย่างมาจาก “ข้าวแช่ชาวมอญ” ทั้งสิ้น

     

    source :  ทีมงาน
                     นางสาวกัลยาณี    แสงปาก    
                     นายนที              สุขมานพ              
                     นางสาวนวรัตน์     นามเขตต์     
                     นางสาววรรณภา   อาจสาลี   
                     นางสาวอภิชญา    บุญสม        
                 ผู้ประสานงานในชุมชน
                     เจ้าอาวาส          สุกิตวิศาล
                     นายมนู             อิ่มพงษ์
                     นางสำอาง         อ่อนน้อมดี
                     นางสายพิญณ์    วารีย์ญาติ
                     นางอุษา           แดงน้อย
                 https://goo.gl/images/a2h31F

                           

               

     

                

    Media

    © 2018 Thai Local Wisdom. All Rights Reserved. Designed By Agritech