ความเป็นมา

          "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" (Local Wisdom) เป็นความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ พฤติกรรม ที่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ของแต่ละท้องถิ่น นับเป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นที่ถูกหยิบยกและให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชนเอง เนื่องจากก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม หรือวิถีการปฏิบัติตนเพื่อความสัมพันธ์อันดีกับคนและสิ่งแวดล้อม หรือการรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์ รวมทั้งการประยุกต์เพื่อปรับหรือผสมผสานความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับบริบทในสังคมปัจจุบัน

           ประชากรไทยประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา และประเพณีปฏิบัติที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเทศหนึ่งของโลก จึงทำให้เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ดังนั้น การสำรวจและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนหลากวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นการจัดเก็บความรู้ภายในท้องถิ่นที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้คงอยู่และถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ภูมิปัญญาของแต่ละวัฒนธรรมในท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ ทำให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ ยั่งยืนและสันติสุข
                

           

           ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยซึ่งได้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงทำโครงการวิจัยเพื่อสำรวจและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนหลากวัฒนธรรมมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ฐานความรู้ โดยการรวบรวมข้อมูล 2 ส่วน คือ 1) ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำรวจและจัดเก็บโดยตรงจากชุมชนหลากวัฒนธรรมในพื้นที่เขตลาดกระบังซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการวิจัย ได้แก่ ชุนชนบึงบัว ชุมชนเลียบคลองมอญ ชุมชนมอญวัดทิพพาวาส ชุมชนหัวตะเข้จีน ชุมชนหัวตะเข้ไทย ชุมชนมอญวัดสุทธาโภชน์ และชุมชนดารุลมุกีม 2) ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศที่รวบรวมจากฐานข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

           ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังได้กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการลงพื้นที่ชุมชน ได้สัมผัสกับปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลในชุมชน ได้เห็นคุณค่าของชุมชน และเสริมสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในการศึกษา ค้นคว้าและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

     

    Read 5430 times
    © 2018 Thai Local Wisdom. All Rights Reserved. Designed By Agritech